3/16/2021

กิจกรรม เอาอะไรมาให้พากลับ @สัตหีบ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม 2564 นักกีฬาทางน้ำต่าง ๆ ได้แก่ นักว่ายน้ำ นักพายบอร์ด นักพายเรือคายัค นักแล่นใบ รวมตัวกันทำกิจกรรม "เอาอะไรมา ให้พากลับ" ณ เกาะหมู อ่าวดงตาล อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี 

https://youtu.be/2MwOBuL-IzE



ภาพข่าวจากสยามรัฐ 
https://siamrath.co.th/n/227316?fbclid=IwAR08Iypq52LhUGCWpITUcqQ4RPl3Fo9ZIEUqSFpUta42KLbrhqCUhs8HHAQ




ข่าวสัตหีบโพสต์ SATTAHIP NEWS
https://youtu.be/k19fL0F7LEw



รายละเอียดกิจกรรม
https://youtu.be/nVe99lS1qQc


นัยก่าย

 

3/10/2021

ความเป็นเลิศในการกีฬาแล่นใบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

จาก หนังสือชีวประวัติ พลเรือเอก ดร.ไพบูลย์ นาคสกุล ม.ป.ช., ม.ว.ม., ภ.ป.ร.๔, หน้า 101 -105 แจกในพิธีพระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอก ไพบูลย์ นาคสกุล เมื่อ วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม 2563 ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส รูปในบทความเพิ่มเติมเพื่อให้รายละเอียดเพิ่มขึ้น 

ความเป็นเลิศในการกีฬาแล่นใบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

โดย พล.ร.อ. ดร.ไพบูลย์ นาคสกุล

His Majesty King bhumibol's Excellency in Sailing 

By Admiral Dr. Paibul Nacaskul 

--------------------------------------------------------------


Abstract 

The excellency of H.M. the King Bhumibol in the sport of sailing is so in dept beyond comparison, starting from the trial construction of sailing dinghies from international-class vessels till designing and constructing his own boats by His Majesty himself, inclusive of successive developments of design while developing his own skill in sailing to win many races, most renown of which being the winning of Gold Medal for OK Class Sailing in the 4th SEAP Games hosted by Thailand.


บทคัดย่อ

พระอัจฉริยะภาพและพระปรีชาสามารถในกีฬาแล่นเรือใบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีความลึกซื้ง ยากจะหาที่เปรียบได้ จากการที่ทรงเริ่มต้นตั้งแต่ทรงทดลองต่อเรือใบ โดยใช้แบบมาตรฐานของต่างประเทศ จนกระทั่งทรงคิดค้นออกแบบและทรงต่อเรือด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง ทั้งยังพัฒนาแบบเรือไปพร้อม ๆ กับทรงพัฒนาการแล่นใบ จนสามารถนำเรือเข้าแข่งขันและทรงชนะเลิศในหลายโอกาส และที่สำคัญทรงชนะเลิศได้เหรียญทองในการแข่งขันเรือใบ ประเภทโอเค ในกีฬาแหลมทองครั้งที่ ๔ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ 

-------------------------------------------------------------

กีฬาแล่นใบเป็นกีฬาที่ผู้แล่นต้องมีและใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ร่วมกันกับความรู้กฏเกณฑ์ของการแล่นใบในน่านน้ำต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและความบันเทิงใจในการแล่นใบ เพื่อความยุติธรรมในการแล่นใบแข่งขัน เพื่อการพักผ่อนและการออกกำลังกาย และฯลฯ 

ศาสตร์ของการแล่นใบ คือ ความรู้เกี่ยวกับลักษณะของตัวเรือ เสา ใบ กระดูกงู และหางเสือที่มีผลต่อการทรงตัวของเรือขณะแล่นใบไปในทิศทางที่ต้องการท่ามกลางกระแสลม คลื่น และกระแสน้ำ ที่จะพัดไปไหลมาในทิศทางที่แปรปรวนตามธรรมชาติ ณ ช่วงเวลานั้นๆ 

ศิลป์ของการแล่นใบ คือ การประมวลเ้อาความรู้ในศาสตร์ของเรือและศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ลักษณะอุตุนิม เพื่อนำมาใช้ในการแต่งเรือลแะการบังคับเรือให้เหมาะกับสภาพท้องทะเล การตัดสินใจในจังหวะที่จะกลับลำ แล่นสลับทิศกันไปสู่จุดหมาย และ/หรือเพื่อชิงความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างถูกกฎข้อบังคับที่จะกำหนดไว้ในการแข่งขันแต่ละครั้ง


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ผู้ทรงเป็นเลิศในพระอัจฉริยภาพด้านเกษตรกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน ตลอดจนพระปรีชาสามารถด้านการดนตรีและกีฬา พระองค์ทรงเป็นเลิศในทุกสิ่งทุกอย่างที่ทรงสนพระราชหฤทัยและที่จะทรงประพฤติปฏิบัติ ผู้เขียนใคร่จะขอเสนอบทความสั้น ๆ เกี่ยวกับการกีฬาแล่นใบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อให้ปวงชนชาวไทยได้ทราบอย่างลึกซึ้งถึงพระปรีชาสามาถส่วนพระองค์ ทรงสามารถสร้างพระเกียติประวัติเป็นที่สรรเสริญกึกก้องไปทั่วโลก เมื่อพระองค์ทรงได้รับรางวัลเหรียญทองชนะเลิศในการแข่งขันเรือใบแหลมทอง ประเภทโอเค เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ ในการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ ๔ ที่ประเทศไทยเป็นประเทศเจ้าภาพ เป็นรางวัลเหรียญทองคู่กับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ยังความปลาบปลื้มปิติแก่ชาวไทยทุกหมู่เหล่าอย่างล้นพ้นหาที่เสมอเหมือนมิได้ 

พระปรีชาสามารถเป็นเลิศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการแล่นใบนี้ มีความลึกซึ้งอย่างที่นักแล่นใบเกือบร้อยทั้งร้อยมิได้หยั่งลงไปถึง แม้ชาวต่างชาติที่เป็นแชมเปี้ยนกันมาแล้วหลายยุคหลายสมัย หรือ นักแล่นใบอาชีพ นักแล่นใบสมัครเล่นในน่านน้ำสากลนับร้อยปีมาแล้ว ก็หาผู้ให้ควาสนใจอย่างลึกซึ้งอย่างพระอง์ค์ได้ยาก พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยในการแล่นใบ และการกีฬาแล่นใบถึงขั้นสร้างเรือขึ้นมาทรงใช้ด้วยพระองค์เอง โดยทรงศึกษาค้นคว้าศาสตร์ของการแล่นใบพร้อม ๆ กันไปด้วย ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ซึ่งทรงเล่นเรือใบอยู่ก่อนแล้วเข้ามาร่วมด้วย โดยทรงใช้เรือใบแบบเอ็นเทอร์ไพรส์ และแบบโอคของต่างประเทศมาทรงทดลองต่อกันก่อน ทรงทดลองฝีพระหัติในการต่อเรือ และทรงทดลองแล่นใบเพื่อศึกษาหาความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับศาสตร์ของการแล่นใบ จนกระทั่งในที่สุดทรงได้แบบเรือใบที่ทรงพอพระราชหฤทัย จึงได้ทรงต่อขึ้นมาใหม่ด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เองทั้งหมด เป็นเรือใบเสาเดียวขนาดเล็ก ยาว ๑๑ ฟุต ลำเรือกว้าง ๔ ฟุต ๖ นิ้วครึ่ง เนื้อที่ใบ ๗๒ ตารางฟุต สร้างด้วยไม้อัดชนิดทนน้ำหนา ๔ มิลลิเมตร มีน้ำหนักเบาเพียงประมาณ ๓๕ กิโลกรัม สะดวงแก่การเคลื่อนย้าย มีความว่องไวในการแล่นและกลับลำ ทรงขนานนามว่า เรือมด มีรูปมดเป็นสัญลักษณ์บนใบเรือ มีสมรรถนะเปรียบได้กับเรือมาตรฐานสากล Internatinal MOTH class และทรงตั้งชื่อเรือมดลำแรกนี้ว่า "เวคาน้อย" ซึ่งหม่อเจ้าภีศเดช รัชนี ทรงนำลงแข่งได้เป็นที่ ๑ ใน First Sttahip Regatta เมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๙ 

ผลงานฝีพระหัตถ์ในด้านการออกแบบและต่อเรือ และพระปรีชาสามารถในการแล่นใบมีมากสุดพรรณนาได้ในรายละเอียด หากจะกล่าวเฉพาะที่สำคัญ ๆ ซึ่งชาวไทยควรจะจดจำไว้ ก็มีดังต่อไปนี้ 

เรือใบ Enterprise ชื่อ ราชปะแทน หมายเลขใบ E11111
เรือใบ Enterprise ชื่อ ราชปะแทน หมายเลขใบ E11111

วันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ ทรงเริ่มต่อเรือใบประเภท ENTERPRISE จากแบบของต่างประเทศ ทรงใช้ชื่อเรือเอ็นเทอร์ไพรส์ลำแรกของพระองค์ท่านว่า "ราชปะแตน" ทรงใช้ใบหมายเลข E11111 และทรงนำเข้าแข่งขันแล่นใบครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ ในวโรกาสเสด็จประพาสเมืองไทยของเจ้าชายฟิลิปส์ ดยุ๊คแห่งเอดินเบอระ ผู้ทรงโปรดแล่นเรือใบเป็นปกติอยู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงต้อนรับ และรับสั่งให้มีการแข่งขันเรือใบเป็นการส่วนพระองค์ จากหาดพัทยา หน้าสโมสรราชวรุณ ไปยังเกาะล้าน นับเป็นการแข่งขันเรือใบครั้งแรกขจองพระองค์ ด้วยเรือใบลำแรกที่ทรงต่อเสร็จใหม่ ๆ เป็นการทรงแข่งและทดลองเรือระยะไกลพร้อม ๆ กันไป แต่ "ด้วยการถือท้ายด้วยความรู้สึกที่ทรงมีโดยธรรมชาติของพระองค์เอง" จึงเสด็จเข้าเส้นชัยเป็นที่ ๑ ในจำนวน ๓๔ ลำที่ลงแข่ง นับเป็นการแสดงพระปรีชาสามารถในการกีฬาแล่นใบให้เห็นกันเป็นครั้งแรก 


เรือใบ OK ชื่อ นวฤกษ์

วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๐๘ ทรงเริ่มต่อเรือใบประเภท International OK Dinghy Class จากแบบของต่างประเทศ ทรงใช้ชื่อเรือโอเคลำแรกของพระองค์ว่า "นวฤกษ์" ตามด้วยลำที่สองชื่อ "เวคา" (Vega) ซึ่งพระบาทสมเด็นพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้แล่นใบข้ามอ่าวไทย เป็นครั้งแรก ระยะทาง ๖๐ ไมล์ทะเล หรือ ๑๑๑ กิโลเมตร โดยประมาณ จากหน้าพระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๙ เวลา ๐๔.๒๘ นาฬิกา ทรงใช้เวลาแล่นใบฝ่าคลื่นลม ๑๗ ชั่วโมงเต็ม และได้ทรงนำธง "ราชนาวิกโยธิน" ซึ่งทรงนำข้ามอ่าวมาด้วย ปักลงเหนือก้อนหินใหญ่ ณ ชายหาด กลางอ่าวเตยงาม อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ในขณะที่วงดนตรีบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ "มาร์ชนาวิกโยธิน" เป็นการแล่นใบข้ามอ่าวครั้งแรกของนักแล่นใบไทยที่น่าจดนำไว้ โดยเฉพาะในหน้าต่างประวัติศาสตร์ของกรมนาวิกโยธิน ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหางเสือเรือพระที่นั่ง "เวคา" ให้เป็นรางวัลนิรันดรแก่ผู้ชนะเลิศในการแข่งขันเรือใบข้ามอ่าวไทยประจำปีของสามาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ 

วันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ ทรงเริ่มต่อเรือใบประเภทมด ด้วยแบบและฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง พระราชทานชื่อว่า "เวคาน้อย" ซึ่งหม่อเจ้าภีศเดศ รัชนี ทรงนำลงแข่งได้เป็นที่ ๑  ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงต่อเรือใบมดขนาดจิ๋วยาว ๖ ฟุต ๙ นิ้ว ลำตัวเรือกว้างเพียง ๓ ฟุต ๒ นิ้วครึ่ง ทรงขนานนามว่าเป็นเรือใบประเภทไมโครมด เรือลำนี้สามารถชนะเรือมูซาชิโต้ของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าพีรพงศ์ ภาณุเดชในรอบแรกของการแข่งขันประลองฝีมือ 

พระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อกองทัพเรือที่จะเว้นมิกล่าวถึงมิได้ คือ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงจดทะเบียนเรือใบประเภทมดนี้ ที่ประเทศอังกฤษ ในประเภท "International MOTH Class" แล้ว พระองค์ทรงมีพระกรุราธิคุณและทรวงวางพระราชหฤทัยให้กรมอู่ทหารเรือต่อเรือใบประเภทมดได้ตามแบบของพระองค์ เพื่อใช้ในการกีฬาและการแข่งขัแล่นใบในโอกาสต่าง ๆ และได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สโมสรกรมอู่ทหารเรือ ซึ่งมิใช่เป็นส่วนราชการ ต่อเรือใบประเภทมดได้ตามแบบที่พระองค์พระราชทานให้ โดยมีพระราชประสงค์ มิให้ใช้เวลาราชการ และให้สามารถนำออกจำหน่ายแก่มวลชนในราคาถูกได้ เพื่อเผยแพร่กิจการแล่นใบให้กว้างขวางยิ่งขึ้น สโมสรกรมอู่ทหารเรือจึงได้ดำเนินการตามพระราชดำริตั้งแต่วันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๐ เป็นต้นมา ปรากฎว่ามีการสั่งจอเรือมดในระหว่างการแสดงการต่อเรือใบประเภทมดในงานกาชาติประจำปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ณ บริเวณสวนอัมพร ถึง ๖๔ ลำ 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงหยุดยั้งแนวพระราชดำริอยู่เพียงนั้น ทรงดัดแปลงแบบเรือมด ทรงแก้ไขจุดบกพร่องทีละน้อยอยู่หลายรุ่น จนกระทั่งเดือน มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๐ จึงทรงได้แบบเรือซูเปอร์มดรุ่น AX7 ด้วยการดัดแปลงหัวเรือให้เป็นรูปตัว V ลึกมากขึ้น ท้ายเรือกว้างขึ้น เพิ่มความกว้างลำตัวเรืออีกเล็กน้อย เรือลำนี้ ลงแข่งได้เป็นที่ ๑ ใน Sattahip Regatta เมื่อ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๐ 

เรือซูเปอร์มด AX7 รุ่นที่ทรงพัฒนาและสร้างขึ้น เมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นเรือต้นแบบ "SEAP Super Mod" สำหรับสมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยใช้เป็นเรือแข่งประเภทซูเปอร์มดในกีฬาแหลมทองครั้งที่ ๔ ระหว่างวันที่ ๙-๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ 

ในการแข่งขันอันยิ่งใหญ่ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทืรงนำเรือโอเค ชื่อ เวคา 2 หมายเลขใบ TH27 และสมเด็จพระนางเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒสาพรรณวดี ทรงนำเรือโอเค ชื่อ เวลา 1 หมายเลข TH18 ลงแข่งขันแล่นใบหน้าอ่าวพัทยา ท่ามกลางการเฝ้าชมของประชาชนชาวไทยประมาณหมื่นคน กระจายไปตามชายหาดพัทยา ตลอด ๓ วันของการแข่งขันรวม ๖ เที่ยว ซึ่งจะมีการตัดสินจาก ๕ เที่ยวที่มีคะแนนเสียน้อยที่สุด

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงชนะที่ ๑ ในเที่ยวการแข่งขันรอบที่ ๒ , ๔ และ ๖ ทรงชนะที่ ๒ ในรอบที่ ๑ และ ๓ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ ทรงชนะที่ ๑ ในรอบที่ ๑ , ๓ และ ๕ ทรงชนะที่ ๒ ในรอบที่ ๒ และ ๖ ทั้งสองพระองค์มีคะแนนเสียเพียง ๖ คะแนนเท่ากัน จึงทรงได้รับรางวัลเหรียบทองประเภทเรือใบโอเคคู่กันทั้งสองพระองค์ โดยมีราชาลิ บิน ลาซิ จากมาเลเซีย คะแนนเสีย ๓๒.๔ คะแนน ได้รับเหรียญเงิน และยันขิ่น จากพม่า คะแนนเสีย ๓๕.๔ คะแนน ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง 

ชัยชนะของสองพระองค์ครั้งนี้เป็นที่ปลาบปลื้มปิติยินดียิ่งของทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ภาพสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นรางวัลชนะเลิศคู่กับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ ณ สนามศุภชลาศัย ในวันปิดการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ ๔ เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก ประเทศไทยจึงได้ถือเอาวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นวัน "กีฬาแห่งชาติ" 

เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ คระกรรมการโอลิมปิกสากล ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๙๒ ณ เมืองอิสตันบุล ประเทศตุรกี ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ และขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายเหรียบทองดุษฎีกิตติมศักดิ์ของโอลิมปิก คือ "อิสริยาภรณ์โอลิมปิกชั้นสูงสุด (ทอง)" นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในโลกที่ทรงได้รับเกียรติยศดังกชล่าว โดยมีพิธีทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต 

ในการเตรียมพระองค์เพื่อทรงเข้าแข่งขันในกีฬาแหลมทองครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฝึกซ้อมอย่างหนัก นับตั้งแต่ทรงเข้าร่วมการคัดเลือกเป็นนักกีฬาทีมชาติร่วมกับนักกีฬาทั่วไปเป็นต้นมา แต่ในขณะเดียวกันนั้น พระองค์ก็ยังทรงสนพระราชหฤทัยในการพัฒนาออกแบบเรือใอบู่อย่างจริงจัง ดังปรากฎว่า ในระหว่างการฝึกซ้อมแข่งเรือใบอย่างหนัก ก่อนทรงเข้าแข่งขันกีฬาแหลมทอง เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๑๐ เพียง ๒๒ วันเท่านั้น ยังทรงขะมักเขม้นอยู่กับการต่อเรือลำใหม่อีกลำหนึ่ง โดยทรงเริ่มงานตั้งแต่วันศุกร์ที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๐ เวลา ๑๑.๐๐ และทรงนำเรือลงน้ำได้ใในวันอาทิตย์ที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๐ เวลา ๑๐.๔๕ น. เป็นเรือใบขนาดใหญ่กว่าเรือซูเปอร์มด และใกล้เคียงกับเรือโอเคเพื่อให้ใช้อุปกรณ์เสาและใบของเรือโอเคได้ ทรงขนานนามเรือนี้ว่า "โม้ก" (Moke) จากการผสมตัวอักษร M ของคำว่า MOD กับ OKE จากคำว่า OK ตามแบบพระอารมณ์ขันของพระองค์ท่าน นับเป็นเรือใบลำสุดท้ายที่พระองค์ทรงออกแบบและทรงต่อขึ้นมาด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง ภายในเวลาอันรวดเร็วเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณในทุกๆ ด้านแก่กองทัพเรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการกีฬาเรือบและการต่อเรือใบประเภทหมด ไมโครมด และซูเปอร์มด รวมไปถึงการต่อเรือประเภทโอเค ซึ่งกองทัพเรือได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระยาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงแจกจ่ายแก่ข้าราชบริพารในหมดเรือใบหลวงจิตรลดา เพื่อใช้ในการแข่งขันเรือใบประเพณี จิตรลดา-ราชนาวี หน้าพระราชวังไกลกังวล หัวหิน โดยมีการผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพการแข่งขันในช่วงระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จ"แปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระราชวังไกลกังวล ทุกๆ ปี เริ่มแต่เดือน มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๖ เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้ชนะเลิศในการแข่งขันหลายครั้ง 

สิ่งที่ผู้เขีัยนประทับใจมากครั้งหนึ่งในชีวิต คือ ในการแข่งแข่งขันเรือใบประเพณีจิตรลดา-ราชนาวี เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำเรือผ่านเส้นสตาร์ทเป็นลำแรก แต่เป็นการออกก่อนเวลา จึงต้องนำเรือไปนอกสนามเพื่ออ้อมทุ่นกลับมาสตาร์ทใหม่ตามกฎการแข่งขันของ IYRU ปี ค.ศ. ๑๙๘๕-๑๙๘๘ เป็นเหตุให้พระองค์นำเรือผ่านเส้นสตาร์ท ตกลงมาเป็นอันด้บที่ ๒๓ หากมิใช่ด้วยพระปรีชาสามารถในการแล่นใบสู้คลื่นลมแรงแล้ว ก็คงมิสามารถเข้าเส้นชัยได้เป็นอันดับที่ ๕ หลังอันดับที่ ๑ เพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น ในช่วงเวลาการแข่งขันประมาณ ๑ ชั่วโมงครึ่ง 

ผู้เขียนเข้าเส้นชัยหลังพระองค์เพียง ๑๗ วินาที พระองค์ท่านทรงรออยู่ที่ชายหาด และรับสั่งว่า "จูนวิทยุเก่ง แต่จูนเรือใบสู้เราไม่ได้!" ทูลตอบไปว่า "เป็นเพราะพระบารมีพระพุทธเจ้าข้า!" รู้สึกว่าพระองค์ท่านไม่โปรดคำตอบเช่นนี้นัก ยังโกรธตัวเองไม่หายที่ไม่ทูลตอบพระองค์ท่านว่า "พระพุทธเจ้าข้า ขอรับ!" 

ในระยะหลัง ทีมราชนาวีใช้นักกีฬาเฉพาะนายทหารชั้นยศพลเรือตรีขึ้นไป ทั้งที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว และที่ยังอยู่ในราชการกองทัพเรือ ต่อมา สามาชิกอาวุโสของทั้งสองทีมก็ร่วงโรยกันไปตามวัย จนในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้แล่นใบตามสเด็จเป็นที่เบิกบานพระราชหฤทัยเท่านั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ มีการแข่งขันเรือใบประเพณีฯ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงลงแข่งด้วย หลังจากปีนั้นเป็นต้นมา จึงมิได้มีการแข่งขันประเพณีดังเช่นเคย คงมีแต่การประลองฝีมือกันระหว่าง สมาชิกสโมสรหมวดเรือใบหลวงจิตรลดา และสามาชิกราชนาวีสโมสร เพื่อความสามัคคีสมานฉันท์เป็นครั้งคราวตามแต่จะนัดหมายกันเอง 

ผู้เขียนขอจบบทความนี้ด้วยพระราชดำรัสที่ขอน้อมเกล้าฯ อัญเชิญมาดังนี้ 

"กีฬามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับชีวิตของแต่ละคนและชีวิตของบ้านเมือง" 

พระราชดำรัสนี้แสดงให้เห็นถึงพระราชวินิจฉัยในการส่งเสริมการกีฬาว่า เป็นสิ่งจำเป็นและเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาบุคคลและประเทศชาติ

ขอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจงทรงพระเจริญ มีพระชนมายุยั่งยืนนาน ขอทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์สถิตเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย ขอพระบรมีแผ่ไพศาลคุ้มเกล้าพสกนิกรชาวไทยตลอดไป 


เอกสารอ้างอิง

1. อัครศิลปิน : หนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จัดทำดดย ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ : "หัตถกรรม" หน้า ๑๓๒-๑๕๓.

2. ในหลวงกับงานช่าง : จัดทำโดย คณะวิศวกรรมศาสตร์และสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. ๒๕๐ : "ในหลวงกับเรือใบมด" หน้า ๒๑๕-๒๒๒. 

3.จอมทัพไทยกับราชนาวี : กองทัพเรือจัดพิมพ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเฉลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ๙ มิถุนายน ๒๕๓๙ : หน้า ๒๕๖-๒๘๕.

4. ศูนย์สมุทรกีฬา : หนังสือที่ระลึกเนื่องในพิธีเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด "ศูนย์สมุทรกีฬา" ณ ถนนเลียบชายหาด กองเรือยุทธการ สัตหีบ ชลบุรี ในวันศุกร์ที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๑ จัดทำโดยสมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ : หน้า ๑๔-๔๓.

5. KING BHUMIBOL : Strength of the Land : จัดพิมพ์โดยสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในสำนักนายกรัฐมนตรี ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ : หน้า ๘๗-๙๘.